Japanese destroyer Yudachi 夕立 (白露型駆逐艦)


เจ้าของฉายา "ฝันร้ายแห่งโซโลมอน"

เรือพิฆาตยูดาจิ (Japanese destroyer Yudachi)

ยูดาจิ "พายุฝนยามเย็น" ที่เป็นเรือพิฆาตลำดับที่4 จาก10 ลำของเรือพิฆาตในชั้นชิราสึยุ ของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น ตามแผนการขยายอาวุธยุทโธปกรณ์ในโครงการที่1

โดยเรือพิฆาตในชั้นชิราสึยุได้ถูกปรับปรุงเเละพัฒนามาจากเรือพิฆาตในชั้นฮัทสึฮารุ ที่ได้รับการออกแบบให้มาพร้อมพลังที่โดดเด่นด้วยความสามารถในการยิงจรวดตอร์ปิโดเข้าใส่เรือรบของศัตรูได้ทั้งกลางวันเเละกลางคืนในช่วงที่กองเรือของสหรัฐฯกำลังเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกตามเเผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือญี่ปุ่น ถึงอย่างไรก็ตามเรือพิฆาตในชั้นชิราสึยุที่ครั้งนึงเคยมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก เเต่ก็ไม่มีเรือพิฆาตลำใดในชั้นนี้ที่รอดชีวิตจากสงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกเลยซักลำ

ยูดาจิ ถูกต่อขึ้นที่ฐานทัพเรือซาเซโบะ โดยได้เริ่มวางกระดูกงูในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1934 เเละปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ.1936 และขึ้นระวางในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1937

ในช่วงระหว่างการเข้าโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ยูดาจิก็ได้เข้าร่วมกับกองเรือพิฆาตที่2 ร่วมกับ มุราซาเมะ ฮารุซาเมะ และ ซามิดาเระ ที่ได้ทำการตีฝ่าวงล้อม จากเขตมาโกะที่เป็นส่วนหนึ่งในยุทธนาวีที่ทะเลฟิลิปปินนับตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ.1942 ในเวลาต่อมายูดาจิก็ได้มีส่วนร่วมในการเข้าโจมตีหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์รวมไปถึงการโจมตีที่ตารากัน บาลิก์ปาปัน และทางตะวันออกชวา โดยที่ในระหว่างการรบที่ชวายูดาจิได้ร่วมรบกับเรือพิฆาตเเละเรือลาดตระเวนลำอื่นๆที่กำลังเดินทางกลับมาที่อ่าวซูบิกของฟิลิปปินส์ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1942 เเละต่อมายูดาจิได้มีส่วนร่วมในการตีฝ่าการปิดล้อมที่อ่าวมะนิลาและการโจมตีที่เมืองเซบู เพื่อกลับไปทำการซ่อมแซมในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ฐานทัพเรือโยโกสึกะ เเละในช่วงยุทธนาวีที่มิดเวย์ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน ยูดาจิได้เป็นส่วนหนึ่งในกองเรือที่มิดเวย์ ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือเอก โนบุทาเกะ คอนโด

นับตั้งแต่ช่วงกลางๆเดือนมิถุนายน ค.ศ.1942 ยูดาจิได้ร่วมในขบวนเรือจากคุเระที่เดินทางผ่านไปยังสิงคโปร์และมะริดในปฎิบัติการจู่โจมเเบบเฉียบพลันในมหาสมุทรอินเดีย แต่เเผนการนี้ถูกยกเลิกไปเนื่องมาจากการที่กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นประสบปัญหาในเเนวรบทางด้านหมู่เกาะโซโลม่อน ยูดาจิจึงได้เดินทางมาถึงที่เกาะฌอทแลนด์ในวันที่ 30 สิงหาคม และได้รับมอบหมายภารกิจ "โตเกียว เอ็กซ์เพรส" ในทันทีด้วยการทำหน้าที่ขนส่งยุทธภัณฑ์ด้วยความเร็วสูงไปยังกวาดัลคะแนล ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 4-5 กันยายนที่อยู่ในระหว่างภารกิจดังกล่าว ยูดาจิก็ได้ทำการจมเรือพิฆาต ยูเอสเอส เกรกอรี่ (ดีดี-82) และเรือพิฆาต ยูเอสเอส ลิตเติ้ล (ดีดี-79) ของกองทัพเรือสหรัฐฯไปถึง 2 ลำ เเละยูดาจิยังคงทำภารกิจที่กวาดัลคะแนลจนถึงเดือนพฤศจิกายน จนกระทั่งได้มามีส่วนร่วมในยุทธนาวีที่หมู่เกาะซานตาครูซเเค่ช่วงเวลาสั้นๆเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือเอก ทาเคโอะ คุริตะ

ท้ายที่สุดในคืนระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ค.ศ.1942 ในช่วงเริ่มต้นของยุทธนาวีที่กวาดัลคะแนล ยูดาจิภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือตรี อาเบะ ฮิโรอากิ ได้นำเรือเปิดฉากเข้าต่อสู้ โดยยูดาจิได้พยายามหักเลี้ยวไปมาเพื่อหลบหลีกเหล่าบรรดาเรือรบของสหรัฐฯรวมถึงเหล่าจรวดตอร์ปิโดที่ถูกปล่อยมาจากเรือลาดตระเวนหนัก ยูเอสเอส พอร์ตแลนด์ (ซีเอ-33) ซึ่งหลังจากยูดาจิถูกโจมตีอย่างหนักจากทั้งเรือพิฆาตเเละเรือลาดตระเวนของสหรัฐฯจนกระทั้งเรือเสียการควบคุม โดยที่เหล่าบรรดาลูกเรือของยูดาจิกว่า 207 นายที่รอดชีวิตก็ได้รับความช่วยเหลือจากเรือพิฆาตซามิดาเระพร้อมกับการยิงจรวดตอร์ปิโดเข้าใส่ยูดาจิเพื่อทำการบังคับจมเเต่ไม่สำเร็จ ซึ่งในเวลาต่อมาซากของยูดาจิที่ถูกทิ้งร้างก็ถูกระดมยิงจากเรือลาดตระเวนหนัก ยูเอสเอส พอร์ตแลนด์ (ซีเอ-33) จนกระทั่งจมลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะซาโว

ลักษณะเฉพาะ
ระวางขับน้ำ: 1,712 ตัน
ความยาว: 103.5 เมตร
ความกว้าง: 9.9 เมตร
กินน้ำลึก: 3.5 เมตร
เครื่องยนต์: 42,000 แรงม้า หม้อน้ำเเบบคัมปง 3 หม้อ 2 เพลา
ความเร็ว: 34 นอต
ระยะทางเชื้อเพลิง: 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต
อัตราเต็มที่: 226 นาย
ยุทโธปกรณ์:
หมู่ปืนหลักเเบบไทป์3 ขนาด 12.7 ซม. เเบบเเท่นคู่ 2 เเท่น เเท่นเดี่ยว 1 เเท่น
ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 13 มม. 2 กระบอก
ตอร์ปิโดขนาด 24 นิ้ว 8 ท่อ
ระเบิดน้ำลึก 16 ลูก

ขอขอบคุณบทความจาก: http://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_destroyer_Yūdachi_%281936%29

เป็นภาพของเรือพิฆาตยูดาจิ ในขณะทำการเเล่นทดสอบ ที่บริเวณฐานทัพเรือซาเซโบะ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1936

ภาพขาวดำต้นฉบับที่ทางเพจนำมาลงสีจาก: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8e/Yudachi_II.jpg

Kongo-class battleships


ภาพถ่ายคู่กันของสองเรือประจัญบานคิริชิมะ (ลำซ้าย) กับเรือประจัญบานคองโกว (ลำขวา) ที่ไม่ทราบช่วงเวลาเเละสถานที่ของภาพ

Cr.: http://www.geocities.jp/sawatoshi201/KIRIKON.jpg

Japanese aircraft carrier Shinano 信濃 (空母)


เรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เรือบรรทุกเครื่องบินชินาโนะ (Japanese aircraft carrier Shinano)

ชินาโนะ เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เคยเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในช่วงเวลานั้น โดยได้เริ่มวางกระดูกงูในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1940 ที่เป็นเรือลำที่ 3 ของเรือประจัญบานในชั้นยามาโตะ ขณะตัวเรือที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ไปเพียงบางส่วน ชินาโนะก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน สาเหตุอันเนื่องมาจากการสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 4 ลำไปในยุทธนาวีที่มิดเวย์ในช่วงกลางๆปีค.ศ.1942

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1944 ชินาโนะได้ทำการขึ้นระวางประจำการอย่างเป็นทางการที่ฐานทัพเรือโยโกสึกะ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีเวลาเพียงสองสัปดาห์เพื่อเตรียมเรือประจำการและสำหรับการทดสอบเรือเพียงเล็กๆน้อยๆ โดยในวันที่ 1 ตุลาคม ลูกเรือได้รายงานต่อคณะกรรมการว่าลูกเรือถึงร้อยละ 70 - 75 ไม่มีประสบการณ์เดินเรือมาก่อน เเละจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในความปลอดภัยของเรืออันเนื่องมาจากมีการบินผ่านของเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ดังนั้นกองทัพเรือญี่ปุ่นจึงมีคำสั่งให้ชินาโนะเดินทางไปยังฐานทัพเรือคุเระ เพื่อทำการเตรียมเรือประจำการในส่วนที่เหลือพร้อมกับเตรียมทำการบรรทุกจรวจพลีชีพเเบบ โยโกสึกะ เอ็มเอ็กซ์วาย7 เป็นจำนวน 50 เครื่อง โดยคำสั่งของกองทัพเรือต้องการให้ ชินาโนะ ออกเดินทางไปยังฐานทัพเรือคุเระในไม่เกินวันที่ 28 พฤศจิกายน แต่ผู้บังคับการเรือ นาวาเอก โทชิโอะ อาเบะ ได้ร้องขอให้เลื่อนวันออกเดินเรือออกไป เนื่องมาจากประตูผนึกกั้นน้ำส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการติดตั้ง อุปกรณ์ตรวจสอบสภาพอากาศยังไม่ได้รับการจัดการให้เรียบร้อย เเละยังมีรูจำนวนมากที่เว้นว่างไว้สำหรับการเดินสายไฟที่ยังไม่ได้รับการติดตั้ง ตามช่องอากาศและท่ออากาศก็ยังไม่ได้รับการปิดผนึก เเละยังไม่มีทั้งระบบท่อน้ำดับเพลิงและระบบระบายน้ำที่เสร็จสมบูรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำยังไม่ได้ถูกส่งมอบ และที่สำคัญเขายังต้องการเวลาเพื่อในการฝึกลูกเรือรุ่นใหม่ๆ

เเต่คำขอของกัปตัน โทชิโอะได้ถูกปฏิเสธ ชินาโนะจึงต้องออกเดินทางตามกำหนดการเมื่อเวลา 18:00 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน โดยมีเรือพิฆาต อิโซคาเซะ ยูกิคาเซะ และ ฮามาคาเซะ เป็นเรือคุ้มกัน

ท้ายที่สุด ณ วันที่ 29 พฤศจิกายนหรือเพียงเเค่ 10 วันหลังจากเรือเข้าประจำการ ในช่วงระหว่างการเดินทาง ชินาโนะก็ถูกโจมตีด้วยจรวจตอร์ปิโดจำนวน 4 ลูกจากเรือดำน้ำ ยูเอสเอส อาเชอร์ฟิช (เอสเอส-311) ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เรือจมลงพร้อมกับการสูญเสียชีวิตของลูกเรือมากถึง 1,435 ชีวิตที่รวมไปถึงกัปตัน เเละอีกกว่า 1,000 ชีวิตได้รับการช่วยเหลือ เเละการจมลงของ เรือบรรทุกเครื่องบินชินาโนะ ยังนับว่าเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ถูกจมลงโดยเรือดำน้ำตราบจนถึงทุกวันนี้

ลักษณะเฉพาะ
ระวางขับน้ำ: 65,800 ตัน
ความยาว: 265.8 เมตร
ความกว้าง: 36.3 เมตร
กินน้ำลึก: 10.3 เมตร
เครื่องยนต์: 150,000 แรงม้า หม้อน้ำเเบบคัมปงระบบท่อน้ำ 12 หม้อ
ใบจักร: เเบบกังหันไอน้ำ 4 ใบจักร 4 เพลา
ความเร็ว: 27 นอต
ระยะทางเชื้อเพลิง: 10,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต
อัตราเต็มที่: 2,400 นาย
ยุทโธปกรณ์:
18 × ปืนสองประสงค์ไทป์ 89 เเบบเเท่นคู่ขนาด 12.7 ซม.
35 × ปืนต่อสู้อากาศยานไทป์ 96 เเบบเเฝด3ขนาด 25 มม.
12 × จรวดต่อต้านอากาศยานเเบบ 28 ลำกล้อง ขนาด 12 ซม.
เกราะ:
กราบเรือ: 160–400 มม.
ดาดฟ้า: 75 มม.
อากาศยาน: 47 เครื่อง

ขอขอบคุณบทความจาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_aircraft_carrier_Shinano

เป็นภาพของเรือบรรทุกเครื่องบินชินาโนะ ขณะทำการเเล่นทดสอบที่บริเวณอ่าวโตเกียว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1944

ภาพขาวดำต้นฉบับที่ทางเพจนำมาลงสีจาก : http://livedoor.blogimg.jp/coolong/imgs/c/e/ce21398b.jpg

I-400-class submarine (伊四百型潜水艦)


Japanese Submarine I-400 Sagami Bay, August 20, 1945.

เรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบินในชั้น อิ-400 (I-400-class submarine)

โดยที่แนวความคิดในการสร้างเรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบินในชุดนี้เป็นของ พลเรือเอก อิโซโรคุ ยามาโมโตะ ผู้บัญชาการของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงต้นสงของครามโลกครั้งที่สอง ได้ไม่นานหลังจากการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 อิโซโรคุมีความคิดที่จะโจมตีทางอากาศต่อเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณชายฝั่งบนผืนแผ่นดินใหญ่ของประเทศสหรัฐฯ โดยการใช้เครื่องบินที่ถูกปล่อยออกจากเรือดำน้ำ โดยที่แผนการดังกล่าวได้ถูกนำไปศึกษาหาความเป็นไปได้โดยคณะเสนาธิการของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นและนำเสนอสู่กองบัญชาการของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ.1942 ให้มีการออกแบบและสร้างเรือดำน้ำขนาดใหญ่เป็นจำนวนถึง 18 ลำ ที่มีพิสัยทำการไกลมากพอที่จะถูกส่งไปปฏิบัติการใกล้ๆกับชายฝั่งของประเทศสหรัฐฯ และยังเดินทางกลับได้โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงระหว่างทาง เเละยังต้องสามารถนำเครื่องบินทะเลที่มีขีดความสามารถในการบรรทุกตอร์ปิโดหรือระเบิด น้ำหนักรวมไม่น้อยกว่า 800 กก. อย่างน้อย 2 เครื่อง ไปกับเรือพร้อมทั้งมีขีดความสามารถในการปล่อยเครื่องบินออกจากเรือด้วยเครื่องดีดเครื่องบินประจำเรือ การออกแบบเรือดำน้ำสำหรับภารกิจข้ามโลกนี้ถูกดำเนินการด้วยความรวดเร็วจนได้ผลสรุปออกมาเป็นแบบเรือดำน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1942 โดยใช้เวลาในการออกแบบเพียง 64 วันเท่านั้น

ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1943 เรือดำน้ำในชั้น อิ-400 ลำแรก คือ อิ-400 ได้เริ่มวางกระดูกงูที่อู่ต่อเรือในเมืองคุเระ และอีก4ลำก็เริ่มทำการก่อสร้างภายในปีเดียวกัน คือ อิ-401 เริ่มวางกระดูกงูในเดือนเมษายน ค.ศ.1943 อิ-402 เริ่มวางกระดูกงูในเดือนตุลาคม ค.ศ.1943 ที่อู่ต่อเรือในเมืองซาเซโบะ อิ-403 เริ่มวางกระดูกงูในเดือนกันยายน ค.ศ.1943 ที่อู่ต่อเรือในเมืองโกเบ และลำสุดท้ายคือ อิ-404 เริ่มวางกระดูกงูในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1944 ที่อู่ต่อเรือในเมืองคุเระ แต่หลังจากที่พลเรือเอก อิโซโรคุ ยามาโมโตะเสียชีวิตลง ในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1943 โครงการเรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบิน ก็ถูกพิจาณาปรับลดจำนวนลงจากที่เดิมวางแผนที่จะสร้างออกมาทั้งสิ้น 18 ลำ ก็ถูกตัดเหลือเพียง 9 ลำ ที่ในเวลาต่อมาก็ถูกตัดลงอีกเหลือ 5 ลำ จนท้ายที่สุดเหลือเพียง 3 ลำเท่านั้น คือ อิ-400 และ อิ-401 ซึ่งถูกนำเข้าประจำการในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.1944 และในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1945 ตามลำดับ ส่วน อิ-402 สร้างเสร็จในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1945 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงได้ไม่นาน จึงไม่เคยออกปฏิบัติในทะเลเเต่อย่างใด ส่วนลำอื่นๆที่เริ่มก่อสร้างไปเพียงบางส่วนก็ถูกยกเลิกไป

ในช่วงต้นปีค.ศ.1945 ทางกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นมีแผนที่จะใช้เรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบินที่มีอยู่ทั้งหมด 4 ลำ คือ อิ-400 และ อิ-401 ในชั้น อิ-400 ที่สามารถบรรทุกเครื่องบินทะเลเเบบไอจิ เอ็ม6เอ1 เซย์รัน ได้ลำละ 3 เครื่อง กับ เรือดำน้ำ อิ-13 และ อิ-14 ที่บรรทุกเครื่องบินทะเลเเบบไอจิ เอ็ม6เอ1 เซย์รัน ได้ลำละ 2 เครื่อง สนธิกำลังเพื่อเข้าโจมตีประตูกั้นน้ำที่คลองปานามา เพื่อขัดขวางการเคลื่อนย้ายเรือรบจากฝั่งแอตแลนติกมาเสริมกำลังในแปซิฟิก แต่ต่อมาก็เปลี่ยนแผนไปโจมตีฐานทัพเรือของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เกาะปะการังอูลิธี ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ในการซ่อมบำรุงเรือรบที่เสียหายของกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตร โดยวางแผนที่จะเข้าโจมตีในคืนวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.1945 แต่สงครามจบลงเสียก่อน เรือ อิ-400 อิ-401 และ อิ-14 จึงถูกยึดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามจบลงไม่นาน ส่วน อิ-13 ถูกจมโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1945 พร้อมลูกเรือทั้งหมด 140 นาย นับว่าเป็นการจมเรือดำน้ำลำเดียวที่มีพลประจำเรือเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังจากที่เรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบินทั้ง 3 ลำถูกยึดทั้งหมดแล้ว จึงถูกนำไปถตรวจสอบขั้นต้นโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ได้สร้างความประหลาดใจถึงขีดความสามารถของญี่ปุ่นในการสร้างเรือดำน้ำขนาดใหญ่แบบนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ จึงได้นำเอาเรือดำน้ำทั้ง 3 ลำไปทำการศึกษาที่ฐานทัพเรือที่ฮาวาย กระทั่งกลางปีค.ศ.1946 กองทัพเรือสหรัฐฯ ติดสินใจจมเรือดำน้ำทั้ง 3 ลำเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำขนาดใหญ่ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายรัสเซีย เพราะว่ารัสเซียเองก็อ้างสิทธิของตนเพื่อขอเข้ามาทำการศึกษาเรือดำน้ำทั้ง 3 ลำของญี่ปุ่นด้วย โดยเรือทั้ง 3 จึงถูกจมโดยการยิงด้วยตอร์ปิโดในบริเวณนอกชายฝั่งฮาวาย โดยตำแหน่งที่เรือจมถูกปกปิดไว้ แต่อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านมาเป็นเวลา 60 กว่าปี จุดที่เรือทั้ง 3 จมก็ถูกทยอยถูกค้นพบระหว่างการสำรวจท้องทะเลในแถบนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยที่ซากของเรือ อิ-401 ถูกตรวจพบในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.2005 ซากของเรือ อิ-14 ถูกตรวจพบในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2009 และลำสุดท้ายคือ อิ-400 ถูกตรวจพบในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.2013 ที่ผ่านมา

ลักษณะเฉพาะ
ระวางขับน้ำ: 6560 ตัน
ความยาว: 122 เมตร
ความกว้าง: 12 เมตร
กินน้ำลึก: 7 เมตร
เครื่องยนต์: เเบบดีเซลขนาด 2250 แรงม้า 4 เครื่องสำหรับบนผิวน้ำ มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2100 แรงม้า 2 เครื่องสำหรับใต้น้ำ
ความเร็ว: บนผิวน้ำ 18.7 นอต/ใต้น้ำ 12 นอต
ดำน้ำลึสูงสุด: 100เมตร
อัตราเต็มที่: 144 นาย
ยุทโธปกรณ์:
- เครื่องบินทะเลเเบบไอจิ เอ็ม6เอ1 เซย์รัน จำนวน 3 เครื่อง
- ท่อยิงตอร์ปิโด 8x533 ม.ม
- ปืนใหญ่ 1x140 ม.ม
- ปืนกล 3x25 ม.ม
- ปืนกล 1x25 ม.ม

ขอขอบคุณบทความจาก : #เรือรบในอดีต https://www.facebook.com/thepastwarship/photos/pb.490610531011918.-2207520000.1431940825./569379849801652/?type=3&theater

เป็นภาพของเรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบิน อิ-400 ที่บริเวณอ่าวซางามิ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1945

ภาพขาวดำต้นฉบับที่ทางเพจนำมาลงสีจาก : http://livedoor.blogimg.jp/kancollematome/imgs/8/1/819d75e9.jpg

Japanese battleship Yamato (1941)


เรือประจัญบานยามาโตะ ขณะใกล้เสร็จสิ้นการเตรียมเรือประจำการ ที่ฐานทัพเรือคุเระ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1941 เเละในภาพทางด้านขวาคือเรือบรรทุกเครื่องบินเบาโฮโชว ส่วนตรงกลางของภาพคือเรือเสบียงมามิยะ

Japanese destroyer Shimakaze 島風 (島風型駆逐艦)


เรือพิฆาตที่เร็วที่สุดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (อ้างอิงจากวิกิ)

เรือพิฆาตซูเปอร์เดสทรอยเยอร์ชิมะคาเซะ (Japanese destroyer Shimakaze)

ชิมะคาเซะ ที่มีความหมายว่า ลมเกาะ ซึ่งเป็นเรือพิฆาตเเบบซูเปอร์เดสทรอยเยอร์เพียงหนึ่งเดียวของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ได้รับการติดตั้งหมู่ปืนหลักขนาด 127 มม. เเบบเเท่นคู่จำนวน 3 เเท่นรวม 6 กระบอก เเละยังมีความสามารถต่อต้านได้ทั้งอากาศยานและเรือดำน้ำ และที่สำคัญ ชิมะคาเซะเป็นเรือพิฆาตเพียงลำเดียวในกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่ได้รับการติดตั้งตอร์ปิโดเป็นจำนวนถึง 15 ท่อ ที่แต่ละท่อสามารถยิงตอร์ปิโดเเบบ ไทป์ 93 “หอกยาว” เเละยังได้รับการทดสอบให้ติดตั้งเครื่องจักรไอน้ำเเรงดันสูงที่มีกำลังเกือบ 80,000 เเรงม้า จนส่งผลให้ ชิมะคาเซะ กลายเป็นเรือพิฆาตที่เร็วที่สุดในโลก ด้วยความเร็วที่คาดใว้อยู่ที่ 39 นอต เเต่ชิมะคาเซะกลับทำความเร็วในการทดสอบได้สูงถึง 40.9 นอต

ชิมะคาเซะ ถูกสั่งต่อในปีค.ศ.1939 ที่เป็นหนึ่งในแผนการขยายอาวุธยุทโธปกรณ์ตามโครงการที่4 ของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น เเละได้เริ่มวางกระดูกงูที่ฐานทัพเรือไมซุรุ ในช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ.1941 เเละเรือถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1943

แต่เดิมกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นทีมีความคิดที่จะสร้างเรือในเเบบเดียวกับชิมะคาเซะอีก 16 ลำ ตามแผนระยะยาวในการขยายอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในโครงการที่5 แต่เนื่องด้วยความสามารถในทางอุตสาหกรรมไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงโครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป

โดยชิมะคาเซะ ได้เริ่มภารกิจเเรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1943 ด้วยการเป็นส่วนหนื่งในการลำเลียงพลจากเกาะคิสก้าไปยังหมู่เกาะอะลูเชียน ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1944 ชิมะคาเซะ ก็ได้เข้าร่วมในยุทธนาวีที่ทะเลฟิลิปปิน เเละในเดือนตุลาคม ค.ศ.1944 ชิมะคาเซะ ก็ได้เข้าร่วมในยุทธนาวีที่อ่าวเลย์เต ที่ชิมะคาเซะได้มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเรือประจัญบานมูซาชิที่จมลงในศึกครั้งนี้

กระทั่งท้ายที่สุด ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1944 ในขณะที่ชิมะคาเซะได้ดำรงตำเเหน่งเป็นเรือธงประจำกองเรือพิฆาตที่2 ภายใต้การควบคุมของพลเรือตรี มิคิโอะ ฮายาคาวะ ชิมะคาเซะก็จมลงด้วยการถูกโจมตีโดยกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯจากกองเรือเฉพาะกิจที่ 38 ในยุทธนาวีที่อ่าวออร์มอค ที่เป็นการปิดตำนานของเรือพิฆาตที่เร็วที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สองลง เเละยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าด้วยความเร็วของเรือเพียงอย่างเดียวไม่มากพอที่จะทำให้เรือลำนี้สร้างผลงานหรือหลบหลีกการโจมตีทางอากาศได้เเต่อย่างใด

ลักษณะเฉพาะ
ระวางขับน้ำ: 3,400 ตัน
ความยาว: 129.5 เมตร
ความกว้าง: 11.2 เมตร
กินน้ำลึก: 4.15 เมตร
เครื่องยนต์: 75,000 เเรงม้า หม้อน้ำแบบคัมปงรุ่นอิมพัลส์เกียร์ 2 หม้อ หม้อน้ำแบบคัมปงรุ่นท่อน้ำ 3 หม้อ 2 ใบจักร
ความเร็ว: 40.9 นอต
ระยะทางเชื้อเพลิง: 6,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต
ยุทโธปกรณ์:
-หมู่ปืนหลักเเบบไทป์3 6 × 127 มม. (3x2)
-ปืนต่อสู้อากาศยานเเบบไทป์96 6 × 25 มม. (2x3)
-ปืนกลต่อสู้อากาศยาน 2 × 13.2 มม. (1x2)
-ท่อยิงตอร์ปิโดรุ่นไทป์93 15 × 610 มม. (3x5)
-ระเบิดน้ำลึก 18 ลูก

ขอขอบคุณบทความจาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_destroyer_Shimakaze_%281942%29


Japanese battleship Mutsu (1936)


เรือประจัญบานมุทสึ ขณะทำการเเล่นทดสอบภายหลังจากการปรับปรุงใหม่ ที่บริเวณฐานทัพเรือโยโกสึกะ เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม ค.ศ.1936

ภาพขาวดำต้นฉบับที่ทางเพจนำมาลงสีจาก : http://image.wangchao.net.cn/baike/1265379927537.jpg

Japanese aircraft carrier Soryu


เรือบรรทุกเครื่องบินโซริว ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมเรือประจำการ ที่ฐานทัพเรือคุเระ ในช่วงราวต้นๆปีค.ศ.1937

Cr.: http://www.geocities.jp/sawatoshi201/SOUTYU.jpg

HMS Warspite (03)


เรือประจัญบาน เอชเอ็มเอส วอร์สไปท์ (03) เเห่งราชนาวีอังกฤษ ขณะกำลังเดินทางเข้าสู่เมืองวัลเลตตาบนเกาะมอลตา ในช่วงสงครามกลางเมืองของสเปน ในช่วงของปีค.ศ.1938

Cr.: http://upic.me/i/63/73591_396097767186688_42169745_n.png

Japanese battleship Yamato 大和 (戦艦) 1941


เรือประจัญบานยามาโตะ ขณะทำการเเล่นทดสอบอย่างเต็มกำลังที่บริเวณอ่าวสึคุโมะ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1941

ภาพขาวดำต้นฉบับที่ทางเพจนำมาลงสีจาก : http://images.forwallpaper.com/files/images/3/3571/3571a698/1057756/battleship-yamato.jpg

HTMS Thonburi


เรือรบที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของราชนาวีไทย

เรือหลวงธนบุรี (HTMS Thonburi)

เรือหลวงธนบุรี เป็นเรือรบประเภทเรือปืนหนักและเรือปืนยามฝั่งในสังกัดของกองทัพเรือไทย ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเดียวกันและชั้นเดียวกันกับเรือหลวงศรีอยุธยา ที่ถูกต่อขึ้นที่อู่ต่อเรือคาวาซากิ ณ เมืองโกเบ ในประเทศญี่ปุ่น โดยได้เริ่มทำการวางกระดูกงูในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1936 เเละทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 31 กรกฎาคม 
ค.ศ.1937 เเละได้ทำการขึ้นระวางเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1938 ที่ได้เป็นขุมกำลังสำคัญของกองทัพเรือไทยในช่วงกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส

โดยที่เรือหลวงธนบุรีได้เข้าทำการรบอย่างกล้าหาญในยุทธนาวีเกาะช้าง หรือ การรบที่เกาะช้าง เมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1941 ที่เป็นเหตุการณ์การรบทางเรือที่เกิดขึ้นในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ไทยได้เรียกร้องให้ปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน ไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส เสียใหม่ โดยจะต้องใช้แนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามหลักความยุติธรรม และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (ค.ศ.1940–41) ที่ส่งผลให้ให้ยุทธภูมิในการรบครั้งนี้เกิดขึ้นที่บริเวณทางตอนใต้ของเกาะช้าง ที่จังหวัดตราด โดยมีรายละเอียดในการรบดังต่อไปนี้

กองเรือไทย
เรือปืนยามฝั่ง ธนบุรี
เรือตอร์ปิโด สงขลา
เรือตอร์ปิโด ชลบุรี

กองเรือฝรั่งเศส
เรือลาดตะเวนเบา ลามอตต์-ปิเกต์
เรือสลุป อามิราล ชาร์เนร์
เรือสลุป ดูมองต์ ดูร์วิลล์
เรือช่วยรบ ตาฮูร์
เรือช่วยรบ มาร์น

ในตอนค่ำของวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1941 เรือหลวงธนบุรีได้ย้ายที่จอดเรือจากเกาะง่ามมาจอดอยู่ยังที่จอดเรือใหม่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะลิ่ม เมื่อเวลา 19.00 น. โดยมีเรือหลวงหนองสาหร่ายและเรือหลวงเทียวอุทกตามมาด้วย และเรือหลวงระยองซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปรักษาการณ์ทางด้านใต้เกาะกูดนั้น ได้ออกเรือจากเกาะง่ามเมื่อเวลา 20.00 น. ในคืนเดียวกัน

วันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1941 เวลา 05.30 น. เมื่อได้เป่าแตรปลุกทหารตามเวลาแล้ว ก็มีการฝึกหัดการบริหารดังเช่นเคย และตามที่เรืออื่นๆ ได้ปฏิบัติกัน เมื่อได้ทำการบริหารไปเล็กน้อย ก็ได้ยินเสียงเครื่องบินข้าศึก ทางเรือจึงมีคำสั่งให้เข้าประจำสถานีต่อสู้อากาศยาน ครั้นแล้วก็ได้แลเห็นเครื่องบิน แต่เรือหลวงธนบุรีมิได้กระทำการยิงเพราะอยู่ไกลสุดระยะปืน และเครื่องบินทะเลลำนี้ เมื่อได้บินมุ่งมาทางเรือหลวงธนบุรีชั่วเวลาเล็กน้อยแล้วก็บินหวนกลับไป ทางที่เรือตอร์ปิโดฝ่ายเราจอดอยู่ในไม่ช้าก็ได้ยินเสียงปืนจากเรือตอร์ปิโดทั้งสองนั้น ทำการยิงเครื่องบินทะเลลำนี้ และได้แลเห็นกลุ่มควันของกระสุนระเบิดอยู่ล้อมรอบเครื่องบินทะเล กระสุนปืนกลได้วิ่งผ่าน เครื่องบินทะเลไปหลายสิบนัด แล้วเครื่องบินทะเลก็ลับหายไป เมื่อเครื่องบินทะเลข้าศึกลับตาไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นทางด้านที่เรือตอร์ปิโดฝ่ายเราจอดอยู่นั้นอีกครั้งหนึ่งและเป็นเสียงดังอย่างถี่ แสดงว่าได้มีการระดมยิงอย่างหนัก แต่ก็มองไม่เห็นกลุ่มควันระเบิดในอากาศดังเช่นครั้งก่อน จึงสันนิษฐานได้ว่าเรือตอร์ปิโดฝ่ายเราคงจะได้เกิดปะทะกับเรือข้าศึกขึ้นแล้ว

เเละด้วยความต้องการที่จะไปช่วยเหลือเรือตอร์ปิโดทั้งสองลำ เรือหลวงธนบุรี จึงได้สั่งให้ถอนสมอและออกเรือ เมื่อเวลาประมาณ 06.20 น. ก่อนหน้านี้ แตรสัญญาณประจำสถานีรบก็ดังขึ้น นอกจากทหารที่ประจำหน้าที่อยู่บ้างแล้ว ทหารในเรือได้วิ่งเข้าประจำตามตำแหน่งหน้าที่ และเตรียมการใช้อาวุธปืนใหญ่ของเรือต่อไป ส่วนเรือหลวงหนองสาหร่าย และเรือหลวงเทียวอุทก ก็ได้ออกเรือตามมาในเวลาใกล้ๆ กันตามลำดับ เมื่อเรือหลวงธนบุรีแล่นพ้นที่จอดเรือ มาได้เล็กน้อยยามบนสะพานเดินเรือก็ตะโกนรายงานลงมาว่าเห็นเรือข้าศึก 1 ลำ ทางท้ายเกาะไม้ซี้ใหญ่ ผู้บังคับหมวดเรือนายนาวาโท หลวงพร้อมวีรพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีด้วยนั้น จึงเอากล้องส่องดูปรากฏว่าเป็นเรือลาดตระเวนลามอตต์ปิเกต์ แล่นโผล่จากหัวเกาะด้วยความเร็ว ประมาณ 20 นอต หัวเรือหันไปทางตะวันออก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้บังคับการเรือ จึงตัดสินใจเข้าทำการต่อสู้ทันที และได้พูดขึ้นสั้นๆ ว่า เอามัน แล้วสั่งให้หันหัวเรือเข้าหาข้าศึก เพื่อทำการต่อสู้จนถึงที่สุด เพราะเรือลำนี้เป็นกำลังสำคัญ ของกองทัพเรืออินโดจีนฝรั่งเศส และในเวลาเดียวกันนั้น ได้สั่งให้รายงานไปยังกองทัพเรือ โดยทางวิทยุโทรเลขว่าเรือลาดตระเวนเบาลามอตต์-ปิเกต์เข้าโจมตีหมวดเรือนี้ที่ด้านใต้เกาะช้าง

สำหรับเรือหลวงหนองสาหร่าย และเรือหลวงเทียวอุทก ผู้บังคับหมวดเรือได้สั่งว่าไม่ต้องตามมาให้หลบขึ้นไปอยู่ทางเหนือของเกาะช้าง ทั้งนี้ก็เพราะเรือทั้งสองลำนี้เป็นเรือขนาดเล็ก ไม่สมควรจะเข้าทำการรบกับเรือข้าศึกขนาดใหญ่

ต่อมาเรือลาดตระเวนเบาลามอตต์-ปิเกต์ของข้าศึกได้บังเกาะไม้ซี้ใหญ่ จนมองไม่เห็นในชั่วขณะหนึ่ง และในเวลาเดียวกันนี้เอง ปืนใหญ่ป้อมท้ายของเรือหลวงธนบุรีเกิดขัดข้อง ยังเตรียมการยิงไม่พร้อมทีเดียว ผู้บังคับการเรือจึงสั่งเลี้ยวซ้ายขึ้นทางเหนือ เพื่อเอาเกาะบังเป็นการถ่วงเวลาไว้เช่นเดียวกัน ครั้นได้รับรายงานว่าปืนพร้อมเวลาประมาณ 06.40 น. จึงได้สั่งหันหัวเรือไปทางทิศใต้ ประมาณตะวันออกเฉียงใต้ แล่นด้วยความเร็วเต็มที่ประมาณ 15 นอต
ในเวลาใกล้ๆ กันนี้ เรือลาดตระเวนเบาลามอตต์-ปิเกต์ ก็โผล่หน้าจากเกาะไม้ซี้ใหญ่ออกมา การต่อสู้ ระหว่างเรือปืนหนักของไทยกับเรือลาดตระเวนเบาของฝรั่งเศส ซึ่งมีเส้นทางไปทางทิศตะวันออกก็ได้เริ่มขึ้นทันที ความจริงแล้วเรือหลวงธนบุรีมีระวางขับน้ำเพียง 2,220 ตัน ความเร็ว 16 นอต เมื่อเปรียบเทียบกับเรือลาดตระเวนเบาลามอตต์-ปิเกต์ ของข้าศึก ซึ่งมีระวางขับน้ำถึง 9,350 ตัน ความเร็ว 33 นอตแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเล็กกว่าและเป็นรองกว่า แม้จะกล่าวว่าเรือหลวงธนบุรีมีปืนใหญ่ คือมีปืนใหญ่ขนาดถึง 8 นิ้ว 4 กระบอกก็ตามเรือข้าศึกก็มีปืน 6 นิ้ว ถึง 8 กระบอก ซึ่งเรือข้าศึกที่ว่านี้ยังมีจรวดตอร์ปิโดติดตั้งอยู่บนเรืออีกด้วย

ในระยะแรกของการต่อสู้ ฝ่ายเราได้ยิงถูกโดยเรือลาดตระเวนของข้าศึกแถวบริเวณ สะพานเดินเรือ 2 นัด แลเห็นประกายระเบิด และควันพลุ่งขึ้นมาในบริเวณนั้น ได้อย่างชัดเจนเรือลาดตระเวนเบาของข้าศึกนั้น ได้ทำการ ระดมยิงเรือหลวงธนบุรีอย่างหนัก และยิงตอร์ปิโดมายังเรือหลวงธนบุรีถึง 3 ลูก แต่ไม่ถูกเป้าในไม่ช้าเรือหลวงธนบุรี ได้ถูกกระสุนข้าศึกเช่นกัน กระสุนนัดแรกของข้าศึก ได้ถูกที่ใต้สะพานเดินเรือแล้วแฉลบ เข้าไประเบิดในหอบังคับการ ซึ่งเป็นที่สำหรับผู้บังคับการเรือสั่งการทั่วไป ภายในหอบังคับการนี้ นอกจากผู้บังคับการเรือแล้ว ยังมีต้นหนและทหารเหล่าสามัญประจำอยู่กับผู้บังคับการเรือด้วย เพื่อถือท้ายและติดต่อคำสั่งไปยังเจ้าหน้าที่ต่างๆ กระสุนนัดแรกนี้ ทำให้ทหารในหอบังคับการล้มทับกันระเนระนาด นอกจากนั้นยังมีควันตลบไปทั่วจนมองไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ผู้บังคับการเรือและจ่าเรือ ซึ่งกำลังถือท้ายอยู่นั้นได้เสียชีวิตลงในทันทีทันใด ทหารนอกนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสบ้าง ไม่สาหัสบ้าง อำนาจของกระสุนนัดนี้ นอกจากจะปลิดชีวิตของ ผู้บังคับการเรือไปแล้ว ยังทำให้เครื่องถือท้ายเกิดขัดข้องอีกด้วย ต้นหนคือนายเรือโท เฉลิม สถิรถาวร ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะด้านหลังต้องออกจากหอบังคับการลงไปจากสะพานเดินเรือ เพื่อจัดการใช้เครื่องถือท้ายอะไหล่ที่ท้ายเรือในขณะนั้น เรือหลวงธนบุรี ได้แล่นหมุนเป็นวงกว้างอยู่หลายรอบ เมื่อใช้เครื่องถือท้ายอะไหล่ได้แล้ว จึงได้กลับแล่นไปในทิศทางเดิม แต่อย่างไรก็ตามการที่จะบังคับเรือให้อยู่ในทิศทางตามต้องการ ก็ไม่สู้จะทำได้คล่องแคล่วนัก และในขณะเดียวกันเรือข้าศึกอีก 3 ลำ ที่ทำการต่อสู้กับเรือตอร์ปิโด ของฝ่ายเราทั้ง 2 ลำ เมื่อได้ยินเสียงปืนดังขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะช้างแล้ว ได้แล่นเข้ามาสมทบกับกำลังของตน ทำการระดมยิงเรือหลวงธนบุรีแต่เพียงฝ่ายเดียว

เวลา 07.40 น. ทางเรือได้ยินเสียง และเห็นเครื่องบิน 1 ลำ บินอยู่เหนือเรือในขณะแรกที่ได้เห็นนั้น ทหารทุกคนต่างนึกดีใจว่า คงจะเป็นเครื่องบินของฝ่ายไทยมาทำการช่วยเหลือ แต่เหตุการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม เสียงระเบิดดังสนั่นขึ้นในเรือทหารได้รับคำสั่งให้หลบเข้าที่กำบังระเบิด 1 ลูก ได้ตกลงมาถูกห้องสูทกรรม (ห้องครัว) ทำให้เกิดเพลิงไหม้หนักขึ้นอีก ทหารที่กำลังทำงานอยู่ในบริเวณนั้น ได้เสียชีวิตไปในทันทีมีจำนวน 3 นาย บางนายถูกไฟลวกตามหน้า และตัวมองเห็นหนังกำพร้าสีขาว บางคนก็ไหม้เกรียมและที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และไม่สาหัสก็อีกหลายนาย ส่วนทหารซึ่งทำงานอยู่ในที่อื่น แต่อำนาจระเบิดไปถึงก็ได้ถูกสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บอีกหลายนาย เช่นกันอำนาจของระเบิดนี้ แม้จะไม่ทำให้ทหารอื่นได้รับบาดเจ็บ แต่อย่างไรก็ตามก็ทำให้ตกตะลึงไปชั่วขณะหนึ่ง ถึงแม้ว่าเรือหลวงธนบุรีจะได้เกิดไฟไหม้ลุกลามไปหลายแห่ง และทหารประจำเรือได้เสียชีวิต และบาดเจ็บไปแล้ว เป็นจำนวนหลายนายก็ตาม แต่ปืนป้อมของเรือ ซึ่งยังไม่มีการเสียหายแต่ประการใด ก็ยังคงทำการยิงอย่างหนักอยู่ตลอดเวลา ในตอนหลังนี้กระสุนได้ถูกเรือลาดตระเวนเบาของข้าศึก ซึ่งได้แล่นกลับขึ้นมาในทิศทางเดิม อีกครั้งหนึ่ง เข้าอย่างจัง ที่ตอนท้ายเรือ บริเวณป้อมท้ายแลเห็นประกายไฟ และควันพลุ่งตามขึ้นมาเข้าใจว่า คงทำความเสียหายให้ข้าศึก ไม่น้อยทีเดียวเรือลาดตระเวนข้าศึก จึงเลี้ยวขวากลับหลังหันไปในทิศทางตรงกันข้ามอีกแล่นส่ายไปมา และได้ชักธงสัญญาณขึ้นที่พรวนหลายครั้ง พร้อมกับเปิดแตรไซเรนเป็นสัญญาณ ส่งคำสั่งให้เรือลำอื่นๆ ฝ่ายตนทราบเรือตามเหล่านั้น จึงล่าถอยออกจากยุทธบริเวณตามไปเช่นเดียวกัน

เมื่อเรือข้าศึกได้หันหนีถอยไปนั้น เรือหลวงธนบุรีจะทำการติดตามก็ไม่ทัน เพราะความเร็วน้อย และสภาพของเรือไม่อำนวย จึงได้แต่สั่งยิงกระสุนปืนใหญ่ตามไปอีกหลายตับจนข้าศึก แล่นบังเกาะไม้ซี้ใหญ่ไป เมื่อเรือลาดตระเวนเบาของฝรั่งเศสแล่นออกไปนั้น ในเรือได้มีไฟลุกอยู่ที่ตอนท้ายเรือ และลำเรือตอนท้ายแปล้น้ำผิดกว่าปกติมากกว่าเรือตามอีก 3 ลำ ได้แล่นประคองไปทางทิศตะวันตก เมื่อเรือฝ่ายข้าศึกได้พากันล่าถอยไปแล้ว เวลา 08.30 น. ป้อมต่าง ๆ ได้รับคำสั่งให้ทำการหยุดยิง ทหารประจำป้อมปืน จึงเลิกประจำหน้าที่ และออกมานอกป้อม เเลเมื่อเห็นว่าการดับไฟของเรือหลวงธนบุรี จะไม่เป็นผลสำเร็จลงได้ง่าย และเรืออาจเป็นอันตรายลงในทันทีทันใด เนื่องจากกระสุนดินปืนในคลังในเรืออาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ จึงได้สั่งให้เปิดน้ำเข้าคลังกระสุนและดินปืนด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วน้ำจึงไหลเข้าเรือมากและรวดเร็วจนท้ายเรือแปล้น้ำมากขึ้น และเรือหลวงธนบุรี มีอาการเอียงทางกราบขวา แต่เรือก็ยังคงใช้เครื่องจักรเดินต่อไป ทหารในเรือต่างช่วยกันทำการดับไฟมิได้เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แม้เวลาจะล่วงไปเท่าใดก็ตาม เขาเหล่านั้นมิได้ยอมละความพยายามเลย ไฟจะสงบลงบ้างก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่แล้วไฟก็กลับลุกกระพือโหมหนักขึ้นอีก

แม้เรือหลวงธนบุรีจะถูกไฟไหม้และมีสภาพบอบช้ำ แต่ก็ยังคงใช้เครื่องจักรเดินต่อมาได้อย่างเรียบร้อย ทั้งนี้เพราะเครื่องจักรเหล่านั้น ไม่ได้เกิดการเสียหายมากมายนัก เมื่อไฟได้ลุกมากขึ้นและลามไปถึงหลังห้องเครื่องจักรควันไฟและควันระเบิด ได้กระจายส่งไปถึงห้องเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย และห้องไฟฟ้า ไฟได้ลุกลามขึ้นตามลำดับ จนในที่สุดนายทหารพรรคกลิน จำนวน 8 นาย ในห้องไฟฟ้าได้เสียชีวิตลง

ในขณะที่เรือหลวงธนบุรีกำลังไฟไหม้อยู่นั้น เรือหลวงช้างซึ่งลำเลียงทหารมาถึงแหลมงอบ ได้ยินเสียงปืน ตอบโต้การสู้รบก็รีบเดินทางมาช่วยเห็นเรือหลวงธนบุรีไฟไหม้อยู่ จึงเข้าช่วยทำการดับไฟ ซึ่งในขณะนั้น เรือหลวงธนบุรีได้หยุดลอยลำอยู่ในแนวประมาณเกาะลิ่มกับแหลมน้ำ ใกล้ไปทางแหลมน้ำและการที่เรือจะขืนแล่นต่อไปให้ถึงแหลมน้ำนั้นการดับไฟก็จะไม่เป็นผล เพราะมีกระแสลมพัดเกิดขึ้นเมื่อเรือหลวงธนบุรีมีสภาพหมดหนทางที่จะทำการแก้ไขคืนดีได้แล้ว ทางเรือจึงตัดสินใจให้เรือหลวงช้างจูงไปเกยตื้นบริเวณแหลมงอบ

เเต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าทหารประจำเรือเเละชาวบ้านแถวแหลมงอบจังหวัดตราด และชาวบ้านใกล้เคียง เป็นจำนวนมากจะช่วยกันดับไฟ โดยใช้เรือเล็กและเรือพื้นเมืองไปทำการดับไฟ แต่ก็ไม่สามารถดับไฟได้ เรือหลวงธนบุรีซึ่งเกยตื้นอยู่นั้น ได้เริ่มตะแคงทางกราบขวามากขึ้นทุกที ในที่สุดเวลาประมาณ 16.40 น. กราบเรือทางขวาก็เริ่มจมน้ำมากขึ้น ตามลำดับเสาทั้งสองเอนจมลงไปกราบซ้าย และกระดูกงูกันโคลงโผล่อยู่พ้นผิวน้ำ โดยจากการรบในครั้งนี้ ทหารประจำเรือหลวงธนบุรี ได้เสียชีวิตรวมทั้งหมดเป็นจำนวน 20 นายด้วยกันตามรายนามดังต่อไปนี้

นายนาวาเอก หลวงพร้อมวีรพันธุ์ (พร้อม วีระพันธุ์)
นายนาวาเอก อัชฌา พัฒนวิบูลย์
นายเรือโท เทียน เหมือนสุวรรณ
นายเรือโท ทองมี เสตะจันทร์
นายเรือโท สว่าง สุวรรณเปี่ยม
นายเรือโท ขัน วงศ์กนก
นายเรือตรี ทองปอนด์ ชำนาญแพทย์
นายเรือตรี พรม รักษ์กิจ
นายเรือตรี สมัย จำปาสุต
พันจ่าเอก เฟื่อง ยาประดิษฐ์
พันจ่าเอก สาคร ฉันบุญช่วย
พันจ่าเอก มูล พึ่งมา
พันจ่าเอก ยก นรธด
พันจ่าเอก สม จันมะณี
พันจ่าเอก ปิ่น แซ่ลิ้ม
พันจ่าเอก เอี๋ยว อึ้งหลี
พันจ่าเอก ลบ นุดนา
พันจ่าเอก นวล เสี่ยงบุญ
พันจ่าเอก ลำดวน ทัพพะเกตุ
พันจ่าเอก ยู่เล้ง อาจสาคร

ที่ถือเป็นการรบทางทะเลเพียงครั้งเเรกเเละครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของราชนาวีไทย กับรัฐบาลฝ่ายวิชีฝรั่งเศสในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เเม้ไม่อาจตัดสินผลของสงครามได้อย่างเด็ดขาดก็ตาม เเต่ก็นับว่าเป็นการรบทางเรือที่แสดงถึงความกล้าหาญ และจิตใจอันกล้าเเกร่งของชายชาติทหารเเห่งราชนาวีไทย ซึ่งทางฝ่ายฝรั่งเศสเอง ก็ยังได้กล่าวถึงการรบครั้งนี้ดังปรากฏในวิทยุกระจายเสียงที่สถานีไซ่ง่อนเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ.1941 ภายหลังจากการรบ 2 วัน ดังมีข้อความดังสำเนาคำแปล ต่อไปนี้

“แต่เราจะลืมเสียมิได้ที่จะสรรเสริญการต่อสู้อย่างทรหดกล้าหาญของทหารเรือไทย เราขอน้อมเคารพพวกทหารเรือไทย ที่ได้สิ้นชีพในการต่อสู้ จนถึงที่สุดอย่างสมเกียรติทหาร เพื่อบ้านเกิดเมืองนอนของเขาด้วย”

ภายหลังเมื่อได้มีการกู้ซากของเรือหลวงธนบุรีแล้ว ทางกองทัพเรือก็ได้ลากจูงเรือหลวงธนบุรีมาทำการซ่อมเเซมครั้งใหญ่ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.1941 แต่เมื่อตรวจสอบแล้วเเต่พบว่าตัวเรือได้รับเสียหายหนักเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ จึงทำการปลดระวางประจำการจากการเป็นเรือรบ และใช้ไปเป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนกระทั่งปลดระวางประจำการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1959 ทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง ซึ่งถูกตั้งอยู่ภายในโรงเรียนนายเรือ ที่จังหวัดสมุทรปราการ ณ ปัจจุบัน

ซึ่งที่มาของชื่อเรือหลวงธนบุรีนั่นได้มาจากนามของ "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" อันเป็นนามของราชธานีไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ค.ศ.1767- 1782)

ข้อมูลจำเพาะ
ระวางขับน้ำ: เต็มที่ 2,350 ตัน
ความยาว: รวม 77 เมตร
ความกว้าง: 13.41 เมตร
กินน้ำลึก: 4.20 เมตร
เครื่องจักร: เครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 2,500 แรงม้าต่อเครื่อง
ความเร็วสูงสุด/ต่ำสุด: 15.8/12.2 นอต
รัศมีทำการสูงสุด/ต่ำสุด: 11,100/6,493 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำการ: 234 นาย
อาวุธ:
• ปืน 203ม.ม. แท่นคู่ 2 แท่น
• ปืนใหญ่ 75/51 มม. 4 กระบอก
• ป.ต.อ. 20 มม. แท่นคู่ 4 กระบอก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
http://th.wikipedia.org/wiki/เรือหลวงธนบุรี
http://www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b23_gauchang_thai.htm

เป็นภาพของเรือหลวงธนบุรี ที่อยู่ในขณะทำพิธีรับมอบเรือ ณ วันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.1938

ภาพขาวดำต้นฉบับที่ทางเพจนำมาลงสีจาก :
http://img.tarad.com/shop/m/modelivery/img-lib/payslip_20130301233824.jpg