เรือหลวงท่าจีน (ลำเเรก)
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1935 ทางกองทัพเรือนั้นได้ทำการสั่งต่อเรือสลุปและฝึกหัดนักเรียนทหารเรือเป็นจำนวน 2 ลำจากบริษัทมิตซุยบุชซันไกชาในวงเงิน 1.885 ล้านบาท โดยที่เรือชุดนี้ถูกต่อขึ้นที่อู่ต่อเรืออูรางะ เมืองโยโกสุกะ กองทัพเรือไทยได้ส่งนาวาเอกพระประกอบกลกิจ เป็นหัวหน้าควบคุมการต่อเรือ และนาวาโทหลวงชาญจักรกิจ เป็นผู้ควบคุมการต่อเรือให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ณ วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1936 ได้มีพิธีปล่อยเรือหลวงท่าจีนลงน้ำ พร้อมๆกับการทำพิธีวางกระดูกงูเรือหลวงแม่กลองในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1937 ทางกองทัพเรือเองก็ได้จัดส่งกำลังพลไปรับเรือทั้ง 2 ลำที่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.1937 เเละได้มีพิธีต้อนรับ เจิมเรือ และเข้าประจำการที่กรุงเทพ รวมทั้งได้มีพิธีเฉลิมฉลองในเวลาต่อมา
เรือสลุปในชุดเรือหลวงท่าจีนนั้นมีความยาวรวม 85 เมตร กว้าง 10.5 เมตร กินน้ำลึก 3.7 เมตร ระวางขับน้ำ 1,400 ตัน ใช้เครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อร่วมกับเครื่องกังหันไอน้ำจำนวน 2 เครื่อง ให้กำลัง 2,500 แรงม้า ความเร็วสุงสุด17 นอตมีระยะทำการไกลสุด 5,700 ไมล์ทะเล วิ่งด้วยความเร็วเดินทาง 10 นอตมีระยะทำการไกลสุด 16,000 ไมล์ทะเล พร้อมทั้งได้รับการติดตั้งอาวุธปืนใหญ่เเบบไทป์3 ขนาด120/45มม.เเบบแท่นเดี่ยวจำนวน 4 เเท่น ปืนกลมือแมดเสนขนาด 20 มม.เเบบแท่นคู่ จำนวน 1 เเท่น ตอร์ปิโดขนาด 450 มม.เเบบแท่นคู่จำนวน 2 แท่นยิง รางทิ้งทุ่นระเบิด แบบ 70/80 จำนวน 2 ราง พาราเวนสำหรับกวาดทุ่นระเบิดแบบ เอส ไทป์ ซี จำนวน 2 ชุด เครื่องบินทะเลรุ่นวาตานาเบ้ ดับบลิวเอส -103 จำนวน 1 เครื่องพร้อมกว้านรอก โดยที่เรือสลุปทั้ง 2 ลำได้มีจุดประสงค์ในการปฎิบัติภารกิจดังต่อไปนี้
- ในยามสงคราม ปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศทางทะเล เเละสามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ในยามสงบ ปฏิบัติภารกิจเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารและนายทหาร สำหรับฝึกภาคทะเลทั้งใกล้และไกลจนถึงต่างประเทศ เพื่อให้นักเรียนทหาร นายทหาร และทหารประจำเรือมีความรู้ความชำนาญในการเดินเรือ นอกจากนี้ยังเป็นการอวดธงราชนาวีไทยไปในตัวอีกด้วย
ซึ่งในช่วงกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสที่เกาะช้าง เรือหลวงท่าจีน ได้เข้าประจำการอยู่ในกองเรือที่ 2 หมวดที่ 1 บังคับการโดย นาวาเอก ชลิต กุลกำม์ธร เป็นผู้บังคับกองเรือ ที่ประกอบด้วย เรือหลวงท่าจีน เรือตอร์ปิโดใหญ่ 3 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ (เรือหลวงวิรุณ และ เรือหลวงพลายชุมพล)
จนกระทั่งช่วงปลายกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส กองทัพเรือได้ยกเลิกการใช้งานเครื่องบินทะเล และติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเเบบไทป์91 ขนาด 40/40 มม.เเบบแท่นคู่จำนวน 1 เเท่นเข้าไปแทน รวมทั้งถอดตอร์ปิโดขนาด 450 มม.ออกแล้วติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเเบบไทป์91 ขนาด 40/40 มม.เเบบแท่นเดี่ยวจำนวน 2 เเท่นเข้าไปแทน เเละเมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมาไม่นาน ประเทศไทยก็ถูกโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดเวลา
ท้ายที่สุดในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1945 ณ.บริเวณอ่าวสัตหีบ มีฝูงบินประมาณ 10 - 15 เครื่องเข้าโจมตีกองเรือไทยที่ซุ่มจอดหลบภัยอยู่ตามเกาะเล็กเกาะน้อย ที่ส่งผลให้มีลูกระเบิดขนาด 250 กิโลกรัมลูกหนึ่งตกลงที่ทางกราบขวาของเรือหลวงท่าจีน เเละโดนเข้าไปที่ห้องเครื่องใหญ่จนทะลุพื้นเรือลงไประเบิดในน้ำ มีทหารบาดเจ็บ 3 นายและบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 50 นาย กระทั่งตัวเรือของเรือหลวงหลวงท่าจีนเริ่มมีรอยแตกตามตะเข็บเรือ เเละเกิดน้ำท่วมห้องเครื่องหลักเสียหายหนักจนใช้การไม่ได้ ทางกองทัพเรือก็ได้พยายามซ่อมเเซมเรือเพื่อให้คืนคงสภาพในภายหลัง ซึ่งก็ยังไม่สามารถทำให้กลับมาให้ดีเหมือนเดิม เเละยังส่งผลประสิทธิภาพของเรือลดลงเป็นอย่างมาก จนกระทั่งท้ายที่สุดเรือหลวงท่าจีนก็ต้องถูกปลดประจำการไป ที่เป็นจุดสิ้นสุดของบทบาทในประวัติศาสตร์ของเรือลำนี้
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก : http://thaimilitary.blogspot.com/2016/04/the-power-of-sea-2478.html
ขอขอบคุณภาพขาวดำต้นฉบับจาก : http://www.thaifighterclub.org/images/answer/A5744408072730920.jpg
⚓⚓⚓⚓⚓⚓ @Tao ⚓⚓⚓⚓⚓⚓
|