HTMS Maeklong


เรือรบที่ประจำการนานที่สุดในกองทัพเรือไทย

เรือหลวงแม่กลอง (HTMS Maeklong)

ร.ล.แม่กลอง เป็นเรือพี่เรือน้องคู่กับ ร.ล.ท่าจีน ที่จัดอยู่ในประเภทของเรือสลุปสังกัดกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ที่ ณ ปัจจุบันถือเป็นเรือรบที่มีความเก่าเเก่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเรือปืนที่ชื่อ Goana Juata ของประเทศเม็กซิโก 

โดยกองทัพเรือได้สั่งต่อเรือลำนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1935 ในสมัยการพัฒนากองทัพเรือ ขณะที่ พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารเรือสมัยนั้น ในช่วงระยะแรกของการพัฒนากำลังรบทางเรือ ตามโครงการบำรุงกำลังทางเรือ ค.ศ.1935 โดยกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัทมิตซุยบุชซันไกชา เป็นผู้สร้าง เพื่อปฏิบัติภารกิจ ตามวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการ คือ
- ในยามสงคราม ปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศทางทะเลในหน้าที่เรือสลุป สามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ในยามสงบ ปฏิบัติภารกิจเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารและนายทหาร สำหรับฝึกภาคทางทะเลเป็นระยะทางไกล จนถึงเมืองท่าต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับความรู้ความชำนาญ ในการเดินเรือ และเป็นการอวดธงราชนาวี ไปในตัวอีกด้วย

โดย ร.ล.แม่กลอง ได้เริ่มวางกระดูกงูเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1936 เวลา 10:45 น. (ซึ่งเป็นวันเดียวกับทำพิธีปล่อย ร.ล.ท่าจีนลงน้ำ) ณ อู่เรือเรือที่อูรางะ เมืองโยโกสึกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีคุณลักษณะเฉพาะของเรือดังนี้
- ระวางขับน้ำ 1,400 ตัน
- ความยาว 85 เมตร
- กว้าง 10.5 เมตร
- กินน้ำลึก 3.7 เมตร
- เครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อร่วมกับเครื่องกังหันไอน้ำ จำนวน 2 เครื่อง มีกำลัง 2,500 แรงม้า
- ความเร็วสูงสุดได้ 17 นอต
- ปฏิบัติการได้ไกล 16,000 ไมล์ ที่ความเร็ว 10 นอต
- อาวุธประจำเรือ
ปืนใหญ่ขนาด 120 มม.เเบบเเท่นเดี่ยวจำนวน 4 กระบอก
ปืนกล 20 มม. 2 กระบอก
ตอร์ปิโด 45 ซม. 2 แท่น ๆ ละ 2 ท่อ
เครื่องบินทะเล จำนวน 1 เครื่อง

ติดตั้งในภายหลังวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1954
ปืนกล40/60 มม. 3 กระบอก
ปืนกล 20 มม. อีก 1 กระบอก
แท่นปล่อยระเบิดลึก 6 แท่น
-ทหารประจำเรือรวม 173 คน (นายทหาร 13 พันจ่า 9 จ่า 85 พลทหาร 66)

ร.ล.แม่กลอง ได้มีพิธีรับมอบเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1937 และเดินทางกลับประเทศไทย ถึงท่าราชวรดิฐในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.1937 กระทรวงกลาโหมได้จัดพิธีต้อนรับเจิมเรือ และขึ้นระวางประจำการเรือในวันเดียวกัน ใซึ่งนพิธีดังกล่าว ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย

ร.ล.แม่กลอง เป็นเรือที่ได้รับพระราชทานนามเรือตามชื่อแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูง แก่ชาวจังหวัดสมุทรสงคราม บรรดาข้าราชการพ่อค้า และประชาชนได้จัดพิธีฉลอง และเยี่ยมชมเรือ ในระหว่างวันที่ 3 - 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1937

ร.ล.แม่กลอง เป็นเรือรบที่ขึ้นระวางประจำการรับใช้ประเทศชาติ ในการป้องกันอาณาเขตทางทะเล อย่างเข้มแข็งมาตลอดระยะเวลา 58 ปี ซึ่งเป็นเรือรบที่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ทั้งทางการยุทธและเรือฝึกคือเป็นเรือครู ให้แก่นายทหารสัญญาบัตรที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ รวมทั้งนายทหารประทวนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนชุมพลทหารเรือ โดยฝึกให้ความรู้ความชำนาญแก่นักเรียนทางด้านภาคปฏิบัติเป็นอย่างดีในด้านวิชาการเรือ การเดินเรือ การอาวุธและยุทธวิธีต่าง ๆ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานให้กับนักเรียน ภายหลังที่ได้สอบผ่านวิชาความรู้ทางด้านทฤษฎีมาแล้วจากโรงเรียน หากนักเรียนผู้ใดได้สอบผ่านทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ จะถือว่านักเรียนผู้นั้นสอบได้อย่างสมบูรณ์สามารถเลื่อนชั้นเรียนไปเรียนในชั้นสูง ๆ ได้ต่อไป จนสำเร็จการศึกษาออกเข้ารับราชการตามหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือ นอกจากนั้นยังเปรียบเสมือนเป็นทูตสันถวไมตรีที่เป็นตัวแทนของคนไทยไปเยี่ยมเยือนนานาประเทศในทั่วภูมิภาคเอเซีย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับชาวต่างประเทศ

ร.ล.แม่กลอง มีประวัติการใช้ราชการยาวนาน เเละเคยจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาหลายต่อหลายครั้ง อาทิเช่น คราวเสด็จพระราชดำเนิน ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ.1938 หรือในคราวเสด็จนิวัติพระนครเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1951 และในการเสด็จพระราชดำเนิน ตรวจพลสวนสนามทางเรือ และทอดพระเนตร การยกพลขึ้นบก ณ หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1954 นอกจากนี้เคยจัดเป็นเรืออัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มายังท่าราชวรดิฐ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1949

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับกองทัพเรือว่า ควรจะอนุรักษ์ เรือรบเก่าๆ ไว้ แล้วจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์การทหาร เพื่อเผยแพร่ความรู้ แก่สาธารณชน เนื่องในมหามงคลวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ในปีค.ศ.1996 กองทัพเรือจึงจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เรือรบไทย ขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ปีกาญจนาภิเษก โดยกำหนดที่จะนำ ร.ล.แม่กลอง มาอนุรักษ์ และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบในโครงการแม่บท คือจะนำมาเทียบท่า เพื่อจัดแสดงให้ประชาชนเข้าชมได้ และจะปรับปรุงท่าเทียบเรือและพื้นที่โดยรวม จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของกองทัพเรือ โดยที่โครงการนี้ จะจัด ร.ล.แม่กลอง ให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านพิพิธภัณฑ์สถาน การยิงสลุตในวโรกาสสำคัญ การประดับธงและประดับไฟในพิธีการต่าง ๆ การรับรองแขกเมืองที่สำคัญ การแสดงกิจกรรมเกี่ยวกับทหารเรือ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์กองทัพเรือด้วย

ในระหว่างวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1995 - 20 มีนาคม ค.ศ.1995 ร.ล.แม่กลอง ได้รับภารกิจ เป็นเรือฝึกภาคปฏิบัติในทะเลของนักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 1, 2 และ 4 ประจำปีการศึกษา 1994 เป็นการฝึกในทะเล ครั้งสุดท้ายของ ร.ล.แม่กลอง ก่อนนำเข้าดำเนินการตามโครงการ การอนุรักษ์ ร.ล.แม่กลอง ในการนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดี ที่จะให้ ร.ล.แม่กลอง เดินทางไปเยี่ยมอำลาประชาชน ชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ที่แม่น้ำ แม่กลอง ซึ่งเป็นที่มาแห่งชื่อเรือ และเป็นสถานที่ที่ในอดีต เคยมีการจัดงานพิธีฉลองให้กับ ร.ล.แม่กลอง มาแล้ว กองทัพเรือ จึงร่วมกับจังหวัดสมุทรสงคราม จัดพิธีอำลา ร.ล.แม่กลอง ระหว่างวันที่ 17 - 18 มีนาคม ค.ศ.1995 ณ บริเวณแม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดปากสมุทร ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

จนกระทั่งกระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า ร.ล.แม่กลอง มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก การซ่อมเพื่อใช้ในราชการต่อไปไม่มีความคุ้มค่า จึงสั่งให้ปลด ร.ล.แม่กลอง ออกจากระวางประจำการนับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1996 เพื่ออนุรักษ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ ร.ล.แม่กลอง สืบไป

ขอขอบคุณข้อมูลหลักๆจาก :http://www.navy.mi.th/royal/kanchana/proj31t.htm

ภาพประกอบจาก : http://s59.radikal.ru/i163/1308/c0/ab0f0175f432t.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น