Etna-class cruiser (ex- HTMS Taksin-Naresuan)


เรือลาดตระเวนเบาในฝันที่มาไม่ถึงประเทศไทย

เรือหลวงชุดตากสิน-นเรศวร (Etna-class cruiser)

โดยตามแผนของกองทัพเรือในสมัยรัฐบาลของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ที่มีโครงการตามพระราชบัญญัติบำรุงกองทัพสยาม ค.ศ.1935 จึงได้มีการเตรียมจัดหาเรือลาดตระเวนเบาจำนวน 2 ลำ โดยไปลงตัวที่อิตาลี ในราคา 1,207,720 ปอนด์ ที่เเยกเป็นราคาของอาวุธอีก 278,400 ปอนด์ ทั้งนี้เราสั่งต่อเรือลาดตระเวนเบาทั้ง 2 ลำจากอู่ต่อเรือเเคนเที
ยรี่ รูนนิติ เเดล'อาเดรียอาติโก ในเมืองตริเอสเต จนได้รับพระราชทานชื่อว่า รล.ตากสิน และ รล.นเรศวร ลำที่ 1 โดย รล.ตากสิน ได้เริ่มวางกระดูกงูในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ.1939 เเละปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1942 ส่วน รล.นเรศวร ลำที่ 1 ได้เริ่มวางกระดูกงูในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1939 เเละปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1941 แต่ทั้ง 2 ลำ ก็มาไม่ถึงประเทศไทย ทั้งที่ได้มีการเตรียมกำลังพลเพื่อรอรับเรือแล้ว

โดยพลเรือโท วิสิฎฐ์ เผ่าทองศุข อดีตเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือใน สมัยเป็นผู้อำนวยการราชนาวิกสภา ท่านได้บอกว่า อิตาลีเกณฑ์เอาเรือทั้งสองลำนี้ไปใช้ในสงคราม โดยตั้งชื่อใหม่และอยู่ในหมู่เรือลาดตระเวนเบาชุดภูเขาไฟ คือ "เอทน่า" กับ "วิซูเวียต" ซึ่งประวัติในกองทัพเรือเรานั้น มีเพียงประวัติสั้นๆอยู่ว่า

“เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น การสร้างเรือก็ดำเนินไปอย่างล่าช้าก็เพราะ ขาดแคลนวัสดุและการส่งอาวุธประจำเรือ รวมไปถึงปืนใหญ่หลักของเรือขนาด 5.3 นิ้ว ที่ทั้ง 3 ป้อม ก็เป็นเเบบ โบฟอร์ส ของสวีเดนที่รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามด้วย เพราะถูกเยอรมันบุก จนเกือบจะถูกยึดครอง”

ซึ่งทางเราคงทราบดีแล้วว่าทางอิตาลีนั้นได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ก็คือฝ่ายนาซีเยอรมัน และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปเองเขาก็รบกันมาตั้งแต่ปีค.ศ.1939 หลังจากที่เยอรมันบุกเข้าโปแลนด์

ถึงแม้ว่าไทยจะร่วมรบกับญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นเป็นฝ่ายอักษะร่วมกันกับอิตาลีหลังเดือนมกราคม ค.ศ.1942 จนถูกฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเเบบ บี-24 ลิเบอร์เรเตอร์ เข้าทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ หลังจากญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1941 เเล้วก็ตาม เเต่เมื่อเข้าสถานการณ์คับขันฝ่ายอักษะด้วยกันเองก็ต้องต่างฝ่ายต่างก็ต้องเอาตัวรอดกันทั้งนั้น

เรือรบทั้ง 2 ลำ จึงได้ถูกเกณฑ์เข้าร่วมรบ โดยภายหลังจากอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกในเดือนกันยายน ค.ศ.1943 เรือทั้ง 2 ลำที่สร้างเสร็จไปกว่า 53% ก็ถูกระเบิดทำลายโดยฝ่ายสัมพันธมิตรจนอับปางลงในสภาพนั่งแท่นเกือบจมน้ำ ก่อนที่ฝ่ายเยอรมันจะเข้าครอบครองเรือทั้ง 2 หลังจากนั้นทางฝ่ายเยอรมันก็มีความพยายามที่จะซ่อมเเซมเรือทั้ง 2 ลำเเต่ก็ถูกยกเลิกไป จนกระทั่งได้มีการกู้ตัวเรือขึ้นมาเพื่อทำลายในช่วงปลายทศวรรษที่1940 ณ บริเวณอ่าวของเมืองตริเอสเต ที่ทำให้เรือทั้ง 2 ลำ ไม่มีโอกาสมารับใช้ประเทศไทย ซึ่งในเวลาต่อมาทางอิตาลีได้จ่ายเงินชดเชยค่าต่อเรือลาดตระเวนเบาทั้ง 2 ลำคืนให้เเก่ไทยเป็นจำนวน 601,360 ปอนด์

ลักษณะเฉพาะ

ชั้น: เรือลาดตระเวนเบา
ระวางขับน้ำ: 5,900 ตัน เต็มที่ 6,000 ตัน
ความยาว: 153.8 เมตร (ตลอดเเนวน้ำ)
ความกว้าง: 14.47 เมตร
กินน้ำลึก: 5.95 เมตร
เครื่องยนต์: กังหันไอน้ำ 2 เพลาใบจักร 3 หม้อน้ำ 40,000 แรงม้า
ความเร็ว: 28 นอต
อัตราเต็มที่: 580 นาย
ยุทโธปกรณ์:
-ปืนใหญ่ขนาด 135 มม.(5.3 นิ้ว)/45 คาลิเบอร์ เเบบเเท่นคู่ 3 เเท่น
-ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 65 มม.(2.6นิ้ว) เเบบเเท่นเดี่ยว 10 กระบอก
-ปืนกลขนาด 20 มม.(0.79นิ้ว) เเบบเเท่นเดี่ยวอีก 20 กระบอก
-ตอร์ปิโดขนาด 18 นิ้ว เเบบเเฝด 3 จำนวน 2 เเท่น
อากาศยาน: เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล 2 เครื่อง
เกราะ:
-ด้านข้าง 60 มม.
-ดาดฟ้า 20-35 มม.

ขอขอบคุณข้อมูลหลักๆจาก : http://www.rtni.org/th/library/wp-content/uploads/2013/11/นาวิกศาสตร์-พย-2555-เรือรบหลวงที่มาไม่ถึงประเทศไทย.pdf

เป็นภาพขณะที่ เรือหลวงนเรศวร กำลังถูกปล่อยลงสู่น้ำในพิธีปล่อยเรือลงน้ำที่อู่ต่อเรือเเคนเทียรี่ รูนนิติ เเดล'อาเดรียอาติโก ที่เมืองตริเอสเต ในประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1941

ภาพต้นฉบับก่อนนำมาลงสีจาก : 
http://img42.imageshack.us/img42/6719/cubie2.png

HTMS Phra Ruang (Ex- HMS Radian)



เรือหลวงลำเเรกของปวงชนชาวไทย

เรือหลวงพระร่วง (HTMS Phra Ruang)

ซึ่งได้เป็นเรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ทั้งข้าราชการและประชาชนผู้มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรี่ยไรทุนทรัพย์ซื้อเรือรบถวายเป็นราชพลีต่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการพระองค์ที่ทรงจัดตั้ง ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Royal Navy League of Siam) ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พ
ฤศจิกายน ค.ศ.1914 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความยินดีและเห็นชอบ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเรือนี้ว่า "พระร่วง" อันเป็นสิริมงคลตามวีรกษัตริย์อันเป็นที่นับถือของชาวไทยทั่วไป

รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน 80,000 บาท และพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้พร้อมใจกันออกทุนเรี่ยไรถวาย เมื่อครั้งจัดงานพระราชพิธีทวีธาภิเษกในรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังเหลือจากการใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 116,324 บาท ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานทรัพย์อีกเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท เมื่อรวมกับเงินที่เรี่ยไรทั่วพระราชอาณาจักร ได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,514,604 บาท 1 สตางค์ ในปีค.ศ.1920

นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย) ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปพร้อมด้วยนายทหารอีก 5 นาย คณะข้าหลวงพิเศษตรวจการซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปชุดนี้โดยได้คัดเลือกเรือพิฆาตตอร์ปิโด "เอชเอ็มเอส เรเดียนท์" (HMS Radiant) ของบริษัทธอร์นิครอฟท์ (Thornycroft Co.,) สร้างที่ เมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเห็นว่าเหมาะสมแก่ความต้องการของกองทัพเรือและเป็นเรือที่ต่อขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ.1916 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้นสงครามยุติลงเมื่อค.ศ.1918 อังกฤษจึงยินดีขาย คณะข้าหลวงพิเศษได้ตกลงซื้อเรือลำนี้เป็นเงิน 200,000 ปอนด์ ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้เรือนั้นได้พระราชทานให้แก่กองทัพเรือไว้สำหรับใช้สอย เรือลำนี้เดินทางจากประเทศอังกฤษเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1920

เรือหลวงพระร่วง เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ได้ทำการต้อนรับสมโภชที่ท่าราชวรดิฐ ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม ค.ศ.1920 เป็นเวลาถึง 3 วัน หลังจากนั้นก็ขึ้นระวางประจำการเพื่อใช้ราชการกองทัพเรือ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1920 จนล่วงมาถึงวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1959 ในรัชกาลที่ 8 เรือก็ถูกปลดระวางประจำการ รวมใช้ในราชการกองทัพเรือ เป็นเวลานานถึง 39 ปี สำหรับภารกิจของเรือหลวงพระร่วง เช่น เข้าร่วมอยู่ในการจัดกำลังของกองทัพเรือกรณีพิพาทอินโดจีนในช่วงปลายปีค.ศ.1940 สถานการณ์ระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสเริ่มตึงเครียดขึ้นเป็นลำดับ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1940 กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งตั้ง พลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็น “แม่ทัพเรือ” นาวาเอก หลวงนาวาวิจิตร ผู้บังคับการกองเรือรบเป็น “เสนาธิการทัพเรือ” ฯลฯ และในวันเดียวกันนั้นเองกองทัพเรือได้ออกคำสั่งที่ 133/83 ตั้ง “ทัพเรือ” ขึ้น ซึ่ง “ทัพเรือ” นี้เป็นหน่วยรบเฉพาะกิจหรือ “หน่วยสนาม” จัดกำลังเป็น “กองเรือ” 3 กองคือ

กองเรือที่ 1 บังคับการโดย นาวาเอก หลวงสังวรยุทธกิจ เป็นผู้บังคับกองเรือ แบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ
- หมวดที่ 1 ประกอบด้วย เรือหลวงศรีอยุธยา เรือตอร์ปิโดใหญ่ 3 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ (เรือหลวงมัจฉานุ และเรือหลวงสินสมุทร)
- หมวดที่ 2 ประกอบด้วยเรือหลวงธนบุรี เรือตอร์ปิโดใหญ่ 3 ลำ และเรือหลวงบางระจัน

กองเรือที่ 2 บังคับการโดย นาวาเอก ชลิต กุลกำม์ธร เป็นผู้บังคับกองเรือ แบ่งออกเป็น 2 หมวดคือ
- หมวดที่ 1 ประกอบด้วย เรือหลวงท่าจีน เรือตอร์ปิโดใหญ่ 3 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ (เรือหลวงวิรุณ และ เรือหลวงพลายชุมพล)
- หมวดที่ 2 ประกอบด้วย เรือหลวงแม่กลอง เรือตอร์ปิโดใหญ่ 3 ลำ และ เรือหลวงหนองสาหร่าย

กองเรือที่ 3 บังคับการโดย นาวาโทหลวงพรหมพิสุทธิ์ เป็นผู้บังคับกองเรือ ประกอบด้วยเรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงพระร่วง เรือยามฝั่ง 6 ลำ เรือประมง 3 ลำ (ต่อมาเรียกว่าเรือ ก.) เรือหลวงสีชัง เรือหลวงพงัน เรือหลวงช้าง เรือหลวงเสม็ด เรือหลวงจวง เรือหลวงคราม เรือหลวงบริพารพาหน (เรือหลวงเกล็ดแก้ว ลำที่ 1)

จึงเห็นได้ว่า เรือหลวงพระร่วงได้พร้อมเข้าสู่สนามรบตลอดเวลาเฉกเช่นเดียวกับเรือหลวงธนบุรี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ยุทธนาวีที่เกาะช้างขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1941

อีกภารกิจที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งของเรือหลวงพระร่วงที่ควรจดจำคือ ครั้นเมื่อเสด็จเตี่ย (พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์) สิ้นพระชนม์ที่ตำบลหาดทรายรีจังหวัดชุมพร ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.1923 สิริพระชนมายุได้ 44 พรรษา ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1923 เรือหลวงเจนทะเลได้เชิญพระศพจากจังหวัดชุมพรมาพักถ่ายพระศพสู่ เรือหลวงพระร่วง ที่บางนา ต่อจากนั้น เรือหลวงพระร่วงได้นำพระศพเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ประดิษฐานไว้ที่วังของพระองค์ท่านพระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.1923 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระศพไปพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ในวาระสุดท้ายของพระองค์ท่านก็ได้กลับมาอยู่บน เรือหลวงพระร่วง อีกครั้ง ซึ่งเป็นเรือที่พระองค์ทรงดำเนินการสรรหาซื้อและทรงเป็นผู้บังคับการเรือคนแรก และนำกลับสู่ประเทศไทยได้เป็นคนแรก อีกทั้งเรือลำนี้ก็เป็นเรือที่สรรหาซื้อมาด้วยความรัก ความกตัญญู ระหว่างปวงชนชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเรือลำใดอีกเลย ที่ปวงชนชาวไทยได้แสดงออกเช่นนี้ นับเป็นสิ่งที่เสด็จเตี่ยน่าจะทรงภาคภูมิใจมากที่สุดอย่างหาที่เปรียบมิได้

สมรรถนะของเรือหลวงพระร่วง

เป็นประเภทเรือพิฆาตตอร์ปิโด ที่มีระวางขับน้ำ 1,046 ตัน ความยาวตลอดลำ 83.57 เมตร ความกว้างสุด 8.34 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร อาวุธปืน 102 ม.ม. 3 กระบอก ปืน 76 ม.ม. 1 กระบอก ต่อมาติดปืน 40 ม.ม. 2 กระบอก ปืน 20 ม.ม. 2 กระบอก มีตอร์ปิโด 21 นิ้ว 4 ท่อ มีรางปล่อยระเบิดลึก และมีแท่นยิงปืนระเบิดลึก 2 แท่น เครื่องจักรเป็นแบบไอน้ำแบบ บี.ซี. เกียร์ เทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง ใบจักรคู่ กำลัง 29,000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 35 นอต ความเร็วมัธยัสถ์ 14 นอต รัศมีทำการเมื่อความเร็วมัธยัสถ์ 1,896 ไมล์ ทหารประจำเรือ 135 คน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.rtni.org/th/library/wp-content/uploads/2013/11/นาวิกศาสตร์-พย-2555-เรือหลวงพระร่วง-เรือของปวงชนชาวไทย.pdf

ภาพต้นฉบับก่อนลงสีจาก : http://f.ptcdn.info/909/024/000/1414378688-JPG-o.jpg